วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประเภทของกฎหมาย

                             

 


                                     ประเภทของกฏหมาย
การแบ่งประเภทของกฏหมายโดยพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์หรือขอบเขตการใช้กฏหมายมาเป็นแนวทางในการแบ่งประเภท อาจแบ่งกฏหมายได้เป็น 2 ประเภท คือ
                     1. กฏหมายระหว่างประเทศ
กฏหมายระหว่างประเทศ เป็นกฏหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐในฐานะที่เท่าเทียมกัน เป็นกฏหมายที่เกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างรัฐ ซึ่งถือเป็นกติกาในการจัดระเบียบสังคมโลก ตัวอย่างเช่น กฏหมายการประกาศอาณาเขตน่านฟ้า การส่งผู้ร้ายขามแดน และสนธิสัญญาต่างๆ เป็นต้น
                   2. กฏหมายภายในประเทศ เป็นกฏหมายที่ใช้บังคับภายในรัฐต่อบุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ภายในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนของประเทศนั้นๆ หรือบุคคลต่างด้าว กฏหมายภายในประเทศยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ กฏหมายมหาชนและกฏหมายเอกชน
  •         กฏหมายมหาชน หมายถึง กฏหมายที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคู่กรณีด้วยกับเอกชน มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดรูปแบบการปกครองรัฐ และควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนในฐานะที่รัฐจำต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และผลประโยชน์ของสาธารณะ โดยทั่วไปกฏหมายมหาชนแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ
    • รัฐธรรมนูญ เป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ กำหนดรูปแบบและการปกครองของรัฐ การใช้อำนาจอธิปไตย และการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ
    • กฏหมายปกครอง เป็นกฏหมายที่ขยายความให้ละเอียดจากรัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการปฏิบัติการต่างๆ ตามกฏหมาย กำหนดสิทธิของประชาชนในการเกี่ยวพันกับรัฐ
    • กฏหมายอาญา เป็นกฏหมายที่มีบทบัญญัติครอบคลุมเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของรัฐ ชุมชน และประชาชนโดยส่วนรวม วัตถุประสงค์ของกฏหมายเพื่อที่จะให้ความปลอดภัย สร้างความเป็นระเบียบของรัฐและรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน
    • กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฏหมายที่กำหนดรายละเอียดวิธีพิจารณาคดีอาญาทางศาล
    • พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กำหนดว่าในการพิจารณาคดีนั้น ศาลใดจะมีอำนาจในการพิจารณาคดีประเภทใด
  • กฏหมายเอกชน เป็นกฏหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับนิติบุคคล และบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ที่ให้บุคคลสามารถรักษาและป้องกันสิทธิมิให้ถูกละเมิดจากบุคคลอื่น เช่น กฏหมายเกี่ยวกับสัญญา การสมรส มรดก กฏหมายเอกชนแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
    • กฏหมายแพ่ง เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของเอกชน เช่น ความมีสภาพเป็นบุคคล ครอบครัว มรดก นิติกรรม เป็นต้น ซึ่งถ้ามีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของกันและกันแล้ว ไม่กระทบคนส่วนใหญ่ ลักษณะการลงโทษจึงมีเพียงการชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น
    • กฏหมายพาณิชย์ เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลที่ประกอบการค้าและธุรกิจ เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน การประกัน เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ ดังนั้นลักษณะของกฏหมายจึงต่างจากกฏหมายแพ่ง
    • กฏหมายพิจารณาความแพ่ง เป็นกฏหมายว่าด้วยข้อบังคับที่ใช้ในการดำเนินคดีเมื่อเกิดคดีความทางแพ่ง
    สำหรับประเทศไทย ได้รวมกฏหมายแพ่งและกฏหมายพาณิชย์ไว้เป็นฉบับเดียวกัน เรียกว่า ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์
หน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฏหมาย ได้แก่
    ประชาชน ได้แก่ ผู้กระทำผิด หรือผู้เสียหาย ดังนั้นประชาชนต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฏหมายในชีวิตประจำวันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ ได้แก่ เจ้าพนักงานที่กฏหมายให้อำนาจและหน้าที่ในการใช้กฏหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
    พนักงานฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน จับกุม ป้องกัน ปราบปรามผู้กระทำผิด ตำรวจ ตามประมวลกฏหมายอาญา ตำรวจมีหน้าที่สืบสวน จับกุม สอบสวน เปรียบเทียบปรับ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมหรือควบคุมบุคคลที่ทำความผิดทางแพ่ง เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจจับกุม ป้องกัน ปราบปรามการกระทำผิดตามกฏหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง เช่น พนักงานป่าไม้ ตำรวจศุลกากร เป็นต้น
    พนักงานอัยการ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนว่าสมควรฟ้องหรือไม่ในคดีอาญา และทำหน้าที่เป็นทนายโจทย์หรือทนายจำเลย ว่าความให้ส่วนราชการในคดีแพ่ง ทนายความ คือ นักกฏหมายที่จดทะเบียนและได้รับอนุญาต โดยมีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงจากฝ่ายโจทย์หรือจำเลยเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณา ศาลยุติธรรม คือ ผู้ที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษา ซึ่งมี 3 ระดับ คือ ผู้พิพากษาชั้นต้น ผู้พิพากษาชั้นอุทธรณ์ และผู้พิพากษาศาลฏีกา พนักงานบังคับคดีและพนักงานราชทัณฑ์ มีหน้าที่บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น